สรุปเรื่อง การทำความเข้าใจภาษาอังกฤษ โดยการหาความหมายจากโครงสร้าง จากวิชา การอ่านภาษาอังกฤษ มสธ.

fResult
6 min readMay 8, 2021

--

บทความเรื่องนี้ เป็นการสรุปจากเนื้อหาบางส่วนหน่วยที่ 2.1 วิชาการอ่านภาษาอังกฤษ รหัสวิชา 10172 ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เพื่อการทำความเข้าใจวิธีการอ่านภาษาอังกฤษ ของตัวผมเอง

นอกจากการเขียนให้ตัวเองเข้าใจมากขึ้นแล้ว
ก็ขอนำมาแบ่งปันเผื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นในเวลาเดียวกันครับ

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า การรู้คำศัพท์มากๆ
ก็เพียงพอที่จะอ่านประโยคหรือข้อความต่างๆ ได้เข้าใจแล้ว
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก

บางครั้งเราจะพบว่า แม้จะรู้ความหมายของทุกคำในประโยค
ก็ยังไม่อาจเข้าใจประโยคที่อ่านได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรให้ความสนใจกับความหมยของโครงสร้างทางไวยากรณ์
ซึ่งมีความสำคัญเท่ากับ ความหมายของคำที่นำมาประกอบกันเป็นประโยคด้วย

โครงสร้างทางไวยากรณ์แบ่งออกเป็นส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. ชนิดของคำ หรือ Parts of Speech
2. ประโยค หรือ Sentence

1. ชนิดของคำ (Parts of Speech)

แผนภาพแสดงชนิดของคำ

จะเห็นได้ว่า Parts of Speech แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
1. Content Words เป็นคำเนื้อหา ใช้เรียกสิ่งต่างๆ ใช้บอกลักษระ สภาพกิริยาอาการ
2. Structure Words หรือตำราบางเล่มเรียกว่า Function Words ทำหน้าที่เป็นกลไกที่ช่วยนำไปสู่ความหมาย

คำทั้งสองชนิดข้างต้น เมื่อรวมกัน แล้วเรียกว่า parts of speech ซึ่งคือ การที่คำถูกแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ตามหน้าที่ในประโยค ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปข้างล่างนี้ครับผม

Note:
เรื่อง Parts of Speech ได้กล่าวไว้แล้วใน
ชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 10111 ของ มสธ.

ผมได้รับทราบข้อมูลจากรุ่นพี่ในกลุ่มวิชาเอกศิลปศาสตร์ มสธ. บอกมาว่า
โครงการสัมฤทธิบัตรเปิดให้ลงทะเบียนและสอบวิชานี้ทุกภาคการศึกษา

1. Content Words

ได้แก่ คำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ และคำกริยาวิเศษณ์
เราพอจะมีแนวทางในการดู Parts of Speech ได้ดังนี้

1. คำนาม (noun) สังเกตได้จาก…
(1) รูปพหูพจน์ คือการเติม -s ท้ายคำ เช่น boys
หรือการเปลี่ยนพยางค์ท้าย เช่น child เป็น children
(2) รูป possessive คือ การแสดงการเป็นเจ้าของโดยมีรูป -’s หรือ -s’ ต่อท้าย เช่น
the girl’s dress หรือ the ants’ nest
(3) suffix บางตัว (-ess, -ent, -ion, -ist, etc.) เช่น happiness, argument, relation, columnist
(4) ตำแหน่งในประโยค คำนามจะอยู่หลังคำกำกับนาม และอยู่หน้าคำกริยา เช่น
- The books belong to Jum.
โดย the คือคำกำกับนาม belong คือคำกริยา

2. คำกริยา (verb) สังเกตได้จาก
(1) ตำแหน่ง คำกริยามักอยู่หลังคำนามหรือสรรพนาม เช่น
- Jim enjoys both maths and physics.
(2) คำกริยาแท้จะอยู่หลังคำกริยาช่วย เช่น
- He will arrive in two hours. โดย will คือกริยาช่วย
(3) การเปลี่ยนรูป คำกริยาจะเปลี่ยนรูปตามประธาน และ tense เช่น
- She likes animals. (รูปเดิม like)
- They like animals.
- They wanted to buy something. (รูปเดิม want)
(4) suffix บางตัวเปลี่ยนคำคุณศัพท์ให้เป็นคำกริยา เช่น
- simplify จาก simple
- shorten จาก short
(5) prefix บางตัวเปลี่ยนคำนามให้เป็นคำกริยา เช่น
- encourage จาก courage
- accompany จาก company

3. คำคุณศัพท์ (adjective) สังเกตได้จาก
(1) ตำแหน่ง คำคุณศัพท์ มักอยู่หน้าคำนาม เพื่อทำหน้าที่ขยายคำนามนั้น เช่น
- Television is a powerful means of communication.
powerful เป็นคำคุณศัพท์ (ซึ่งใส่ suffix -ful ต่อท้าย power) อยู่หน้าคำนาม means และตามหลัง is
- He is fat (boy).
fat เป็นคำคุณศีพท์ ที่ตามหลัง is (และอยู่หน้า boy)

Note:
means ในที่นี้แปลว่า สื่อ หรือ การนำไปสู่…

(2) คำที่ลงท้ายด้วย -er และ -est เพื่อแสดงการเปรียบเทียบ เช่น
- John is shorter than Bob. หมายถึง จอห์นเตี้ยกว่าจิม
- John is the shortest boy in the class. หมายถึง จอห์นเตี้ยที่สุดในชั้นเรียน
(3) คำในรูป present participle และ past participle ที่ใช้ขยายคำนาม เช่น
- We found a dying man in the house.
dying หมายถึงคนที่กำลังจะตาย
- There was a broken cup on the floor.
คำคุณศัพท์ broken นำหน้าเพื่อขยายความ คำนาม cup หมายถึง ถ้วยที่แตกแล้ว
(4) suffix บางตัว ทำให้คำนามและคำกริยาเป็นคำคุณศัพท์ เช่น
- powerful จาก power (noun) - power แปลว่า อำนาจ, พลัง
- dependent จาก depend (verb) - depend แปลว่า พึ่ง, อาศัย, ขึ้นอยู่กับ
(5) คำที่บอกจำนวน เช่น one, two, three, many, several, few เช่น
- We saw three men in the boat.
- There were several women in the hall.
(6) คำที่บอกตำแหน่ง เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สุดท้าย เช่น
- This is the last time I will tell you.
- I am the first man in the queue.

4. คำกริยาวิเศษณ์ (adverb) สังเกตได้จาก
(1) suffix -ly ที่ใช้เติมท้ายคำคุณศัพท์ เช่น
- quickly
- rapidly
- happily
(2) คำหรือกลุ่มคำที่ใช้บอกเวลา เช่น
- I saw her at the cinema yesterday.
- He’s leaving for Europe next week.
(3) คำหรือกลุ่มคำที่ใช้บอกสถานที่ เช่น
- She’s gone downtown.
- They live two miles away.
(4) คำหรือกลุ่มคำที่ใช้บอก เช่น
- She spoke softly.
- The baby cried
loudly.
(5) คำที่ใช้บอกลำดับมากน้อย และความถี่ห่าง
เช่น
- She was very annoyed.
- We occasionally visit him.
- They go there once a week.

2. Structure Words

เป็นคำที่ทำหน้าที่ทางไวยากรณ์ โดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือกลุ่มคำต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น
- คำสรรพนาม (pronoun) มีหน้าที่แทนคำนาม
- คำบุพบท (preposition) มีหน้าที่เชื่อมโยงคำนามหรือสรรพนามเข้ากับคำอื่นๆ
- คำสันธาน (conjunction) มีหน้าที่เชื่อมประโยคมากกว่าหนึ่งประโยคเข้าด้วยกัน

ในที่นี้จะยกตัวอย่างความหมายของ structure words บางตัว เมื่ออยู่ในรูปประโยคพอสังเขป เพื่อให้นำไปปรับใช้กับการอ่านของพวกเราได้

1. articles (a, an, the) ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มของคำกำกับนาม (determiner)
เราควรสังเกตความหมายของ articles ในรูปประโยคดังนี้
(1) a, an เมื่อนำหน้าคำนามในประโยคมีความหมายว่า คำนามนั้นเพิ่งจะถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าเป็น the นำหน้าคำนาม แสดงว่า คำนามนั้นได้เคยถูกกล่าวถึงมาแล้ว ถ้าสงสัยว่า คำนามคำนั้นหมายถึงใครหรืออะไร ให้ย้อนกลับไปอ่านข้อความที่ผ่านมา ก็จะทราบได้ เช่น
- Jack and his roommate were working with the decorating committee. The boys didn’t know much about decorating.
จะเห็นว่า ใช้ the นำหน้า boys ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์ ทำให้ทราบได้ว่า เด็กผู้ชายที่พูดถึงในประโยคที่สองนั้นก็คือ Jack และ his roommate นั่นเอง

(2) การใช้ aricle ต่างกันในข้อความทำนองเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของความในใจของผู้พูด เช่น
- I have a toothache and want to see a dentist who won’t hurt me.
- I have a toothache and want to see the dentist who won’t hurt me.
ทั้งสองประโยคนี้มีความหมายต่างกัน คือ ประโยคแรกหมายถึง หมอฟันคนไหนก็ได้ที่มีคุณสมบัติที่กล่าวไว้ ส่วนประโยคที่สอง ผู้พูดคิดไว้ในใจแล้วว่า จะไปหาหมอฟันคนไหน (อย่างเฉพาะเจาะจง) ซึ่งเป็นคนที่จะไม่ทำให้เจ็บ

2. คำบุพบท (preposition) เป็นคำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง มีหน้าที่เชื่อมโยงคำนาม หรือคำสรรพนามเข้ากับคำอื่นๆ ในประโยค เพื่อแสดงลักษณะความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เช่น in, on, at, with, through, from
ในบางกรณีคำบุพบทอาจทำให้เกิดความหมายพิเศษของกลุ่มคำ ซึ่งนั่นจะทำให้มีลักษณะคล้าายสำนวนได้ อย่างเช่น
- She wrote in pencil. หมายถึง เขียนด้วยดินสอ ซึ่งเน้นที่ภาพเขียนที่ปรากฏออกมาเป็นเส้นดินสอ
- She wrote with a pencil. หมายถึง เขียนด้วยดินสอเช่นกัน แต่เน้นไปที่อุปกรณ์ที่ใช้เขียน
หรืออีกตัวอย่าง…
- We went there on time. หมายถึงตรงเวลาพอดี ไม่ขาดไม่เกิน
- We went there in time. หมายถึง ทันเวลา โดยยังมีเวลาเหลือก่อนกำหนดเวลาจริง

3. คำสันธาน (conjunction) เป็นคำที่มีความหมายในตัวเอง ดังนั้นการศึกษาคำสันธานเพื่อประโยชน์ในการอ่าน ควรจะปฏิบัติดังนี้
(1) จดจำคำสันธานต่างๆ ให้แม่น เพราะถ้าตีความหมายคำสันธานผิด ความหมายของข้อความที่อ่าน อาจจะผิดไปหมด
ลองศึกษาประโยคต่อไปนี้
- Don’t fill in item 2 if you have filled in item 1.
- Don’t fill in item 2 until you have filled in item 1.
จะเห็นว่าทั้งสองประโยคต่างกันแค่คำเดียว แต่ความหมายนั้นแตกต่างกันมาก
ประโยคแรก บอกว่าไม่ต้องเติมข้อ 2 ถ้าได้เติมข้อ 1 ไปแล้ว
ประโยคที่สอง บอกว่า หากจะเติมข้อ 2 ก็ต้องเติมข้อ 1 มาก่อน
(2) คำสันธานคำเดียว แต่มีหลายความหมาย บางครั้งการตีความจากการอ่านข้อความผิดๆ อาจมาจากการที่เรารู้ความหมายของคำสันธานบางคำ แค่ความหมายเดียว โดยที่คำนั้นแปลได้มากกว่า 1 อย่าง เช่น
- He has changed a lot since I first met him.
- He has changed a lot since he is now a grown-up.
ประโยคแรก since ใช้บอกเวลา คือ เขาเปลี่ยนไปมากตั้งแต่ฉันได้พบเขาครั้งแรก
ประโยคที่สอง since ใช้บอกสาเหตุ คือ เขาเปลี่ยนไปมากเพราะตอนนี้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

4. กริยาช่วย (auxiliary verb) โดยความหมายของกริยาช่วย ก็เป็นสิ่งที่ต้องสังเกตเช่นกัน
(1) be เป็นกริยาช่วย เพื่อแสดงว่าเหตุการณ์นั้นๆ กำลังเกิดขึ้น เช่น
- The boy is running. (เด็กผู้ชายกำลังวิ่ง)
- The boy was told to keep quiet. (เด็กผู้ชายถูกสั่งให้เงียบ)
(2) have เมื่อเป็นกริยาช่วย ใช้แสดง perfect tense เมื่อใช้กับ past perfect tense หมายความว่า กริยาที่อยู่ในรูป past perfect เกิดขึ้นก่อนกริยาใน tense อื่น เช่น
- Soon after he had died, his wife remarried. หมายความว่า ไม่นานหลังจากเขาเสียชีวิต -รรยาของเขาก็แต่งงานใหม่)
ถ้าเป็น present perfect tense จะต้องดูบริบทประกอบการตีความ เช่น
- He is tired because he has run all the way home. หมายความว่า เขาเหนื่อย เพราะเขาวิ่งมาตลอดทางกลับบ้าน (ในที่นี้ การวิ่งได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังมีผลของการกระทำอยู่ คือ เขาเหนื่อย)
- He has been running for one hour now. หมายถึง เขาเริ่มต้นวิ่งเมื่อชั่วโมงหนึ่งมาแล้ว และขณะนี้ก็ยังคงวิ่งอยู่
(3) do เมื่อใดที่เราได้เห็นกริยาช่วยตัวนี้ ก็จะบอกได้ทันที่ว่า ประโยคดังกล่าวอาจเป็น…
- 1) ประโยคคำถาม เช่น
--- Do you want this shirt?
--- You want this shirt, don’t you?
- 2) ประโยคปฏิเสธ เช่น
--- I do not want this shirt.
- 3) ประโยคที่เน้นกริยาที่กระทำเป็นพิเศษ เช่น
--- I do want this shirt. (ฉันอยากได้เสื้อตัวนี้จริงๆ โดยใช้ do นำหน้าคำกริยาแท้ เพื่อเน้นย้ำว่าอยากได้มากๆ)
- 4) ประโยคคำตอบสั้นๆ เช่น
--- Yes, I do.
--- No, I don’t.

2. ประโยค (Sentence)

ประโยคอาจประกอบด้วย คำตั้งแต่หนึ่งคำขึ้นไป เช่น
(a) Stop
(b) She worked.
(c) Bob, who was our captain, resigned because of his poor health.

ในการอ่านภาษาอังกฤษ บ่อยครั้งที่เราจะพบว่าประโยคที่มีความยาวและซับซ้อน
ซึ่งทำให้ยากแก่การตีความ
เพราะว่า ประโยคไม่ได้ประกอบด้วย
คำที่ทำหน้าที่เป็นประธาน กริยา และกรรมเท่านั้น
แต่ยังมีส่วนขยายมากมาย

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเมื่ออ่านประโยคซับซ้อนคือ
ให้หาคำที่เป็นคำหลักของประโยคเสียก่อน
จึงจะทำให้เข้าใจประโยคยาวและซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
ซึ่งสิ่งที่เราจะทำนี้คือการหา Core Part หรือแกนประโยค นั่นเอง

ในการหา core part ของประโยค เราต้องรู้่จักรูปประโยคพื้นฐาน (basic sentence patterns) เสียก่อน

10172 — หน่วย 2.1 — น.121

Keyword:
ถ้าประโยคซับซ้อนจนไม่เข้าใจ ให้หา Core part ของประโยคพวกนั้นให้เจอ โดยใช้เรื่องประโยคพื้นฐาน 7 ชนิดดังต่อไปนี้เป็นตัวช่วย

เราอาจแบ่งรูปประโยคพื้นฐานเป็น 7 ชนิดดังนี้
1. S + Vi
2. S + Vt +DO
3. S + Vt + IO + DO
4. S + Vt + DO + OC
5. S + LV + SC
6. S + LV + Adv.
7. There + LV + S

Vi = In transition Verb - กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมต่อท้าย
Vt = Transition Verb - กริยาที่มีกรรมต่อท้าย
DO = Direct Object - กรรมตรง
DI = Indirect Object - กรรมรอง
OC - Object Complement (ส่วนเติมเต็มของกรรม) เพื่อบอกสภาพ สภาวะของกรรม ซึ่งคำที่วางในตำแหน่งนี้อาจเป็นคำนาม (Noun) หรือ คำคุณศัพท์ (Adjective) ก็ได้
LV = Linking Verb - กริยาเชื่อมโยง
SC = Subject Complement (ส่วนเติมเต็มของประธาน) เพื่อบอกสภาพ สภาวะของประธาน ซึ่งคำที่วางในตำแหน่งนี้อาจเป็นคำนาม (Noun) คำสรรพนาม (Pronoun) หรือ คำคุณศัพท์ (Adjective) ก็ได้
Adv. = Adverb (กริยาวิเศษณ์) มีหน้าที่ ขยายคำกริยา ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไร ทำบ่อยแค่ไหน หรือ ขยายคุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์เอง เพื่อบอกให้รู้ว่า ระดับไหนหรือเน้นย้ำว่าแค่ไหน

__________

S + Vi =>
- Mary left.
- I walk.

S + Vt +DO =>
- Mary brought a pen. (Active voice)
- A pen was bought by Mary. (Passive voice)
- I do homework.

S + Vt + IO + DO =>
- Mary gave David a pen. (Active voice)
- A pen was given to David by Mary. (Passive voice)
- David was given a pen by Mary. (Passive voice)
- I pass him the book.

S + Vt + DO + OC =>
- Mary named her son David. (Active voice)
- Her son (or Mary’s son) was named David. (Passive voice)
- I watch movie Fast & Furious.

S + LV + SC =>
- Mary became quite.
- Mary was quite.
- Mary became a nurse.
- Mary was a nurse.
- I’m Spiderman!.

S + LV + Adv. =>
- David is Here.
- I did yesterday.
- I walk quickly.
- I get (money) so much.

There + LV + S (โดยปกติ pattern นี้จะมีส่วนขยายประธานเสมอ) =>
- There are trees (in my garden).
- There was table (at the next building).
- There was a bird (if I dont forget).

ลองศึกษาประโยคต่อไปนี้:

That evening, because he was anxious to tell his wife the good new, *the* happy *man* *ran* all the way home from his office as fast as he could, despite the heavy rain.

ประโยคนี้แม้จะดูซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก
แต่ถ้าดูเฉพาะส่วนที่สื่อความหมายหลัก หรือ core part ของประโยคก่อน
(โดยมองหา ประธาน กริยา กรรม)
แล้วจึงนำส่วนขยายต่างๆ มาผนวกเข้ากับคำหลักเหล่านี้
โดยแปลทีละกลุ่มคำ หรือ thought group
(แต่ละ thought group ประกอบด้วยคำหลักและส่วนขยาย)
จากนั้นจึงนำความหมายของแต่ละ group มารวมกัน
เป็นความหมายของประโยค ก็จะช่วยให้เข้าใจประโยคนี้ได้ง่ายขึ้น

ถ้าตามหลักที่ว่านี้ เราจะได้ core part ของประโยคนี้คือ…
The man (เป็นภาคประธาน หรือ Subject) และ…
Ran (เป็นภาคแสดง หรือ Predicate)

🤣 แปลว่า ผู้ชายวิ่ง!! 🤣

ส่วนที่เหลือของประโยคนี้ทั้งหมดคือการขยายคำหลักสองคำนี้ทั้งสิ้น

Reference:

Note:
Source เพิ่มเติมที่น่าสนใจสำหรับการดูประกอบการฝึกอ่านภาษาอังกฤษ
- 14212 ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English Grammar in Use): https://www.stou.ac.th/schools/sla/b.a.english/d4lp/14212/contents.html

ขอขอบคุณพี่ Pat ใน OpenChat กลุ่ม B.A. ภาษาอังกฤษ ของมสธ. ที่แชร์มาให้ครับ

--

--

fResult

ชื่อเล่นว่ากร เขามี background มาจากอาชีพเด็กวิ่งเอกสารในอาคารของธนาคาร โดยเรียนไปด้วยจนจบจากมหาลัยเปิดแห่งหนึ่ง และปัจจุบันทำงานเป็น Web Developer ครับทั่นน